• หน้าแรก
  • Clickzy Tips
  • ฮาร์ดดิสก์ใกล้พัง สังเกตยังไง เสียแค่ไหนถึงควรเปลี่ยน

ฮาร์ดดิสก์นับเป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งในคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ติดตั้งระบบปฏิบัติการในการใช้งานและเป็นที่จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในการทำงานของเรา แต่อุปกรณ์ทุกอย่างย่อมมีวันเสื่อมสภาพการใช้งาน รวมถึงการที่ฮาร์ดดิสก์ใกล้พังซึ่งคงเสียงที่จะสูญเสียข้อมูลสำคัญไปหากอุปกรณ์ในการบันทึกข้อมูลนั้นขัดข้อง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ใกล้พัง และมีสัญญาณอะไรบ้างที่ช่วยเตือนล่วงหน้า เพื่อให้เราได้มีเวลาเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาฮาร์ดดิสก์ใกล้พังได้อย่างทันท่วงที

วันนี้ Clickzy รวบรวมเทคนิคดี ๆ มาแบ่งปันผู้อ่าน ถึงวิธีสังเกตอาการที่ฮาร์ดดิสก์ใกล้พัง และวิธีการเบื้องต้นในการรับมือและป้องกันไม่ให้ต้องเสียข้อมูลสำคัญไปกับฮาร์ดดิสก์

สาเหตุหลักที่ทำให้ฮาร์ดดิสก์ใกล้พัง

ตัวเครื่องสะสมความร้อนสูงขณะใช้งาน

สาเหตุการพังของฮาร์ดดิสก์ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ระหว่างการใช้งานคอมพิวเตอร์ก็คือ การใช้งานเครื่องหนักเกินไปจนคอมพิวเตอร์สะสมความร้อนสูงและไม่มีการถ่ายเทอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ใช้งานคอมพิวเตอร์กลางแจ้งที่อากาศร้อน หรือไม่มีฐานพัดลมไว้คอยเป่าอากาศเย็นให้กับเครื่อง ซึ่งความร้อนนั้นก็ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์ทำงานช้างลงและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

ฮาร์ดดิสก์ใกล้พังเพราะคอมพิวเตอร์มีความร้อนสะสม

กระแสไฟฟ้าไม่คงที่

ระหว่างการใช้งานคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หากเกิดเหตุไฟฟ้าดับบ่อยครั้งโดยไม่มีอุปกรณ์สำรองไว้ การที่คอมพิวเตอร์ดับกระทันหันบ่อย ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ในเครื่องรวมถึงฮาร์ดดิสก์เสี่ยงที่จะเสียหายได้

การบังคับปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยสวิตช์บ่อย ๆ

การบังคับตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ปิดการทำงานด้วยการกดที่สวิตช์เปิดเครื่องค้างเพื่อให้คอมดับลง โดยไม่ได้สั่ง Shut Down ตามขั้นตอนในระบบ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฮาร์ดแวร์และฮาร์ดดิสก์เสี่ยงที่จะชำรุดเสียหาย คล้ายกับกรณีของไฟฟ้าดับกระทันหัน

สัญญาณและอาการเบื้องต้นที่ฮาร์ดดิสก์ใกล้พัง

ในกรณีปกติที่ฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงอย่างช้า ๆ ตามอายุการใช้งาน ก็จะยังพอมีเวลาให้เราได้สังเกตอาการเบื้องต้นเป็นสัญญาณเตือนให้เราสำรองข้อมูลและได้เตรียมตัวรับมือกับปัญหาฮาร์ดดิสก์ใกล้พังที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง ได้แก่

คอมพิวเตอร์ทำงานช้าลงจนผิดปกติ หรือค้างบ่อย

นับเป็นอาการเบื้องต้นให้เราพอจะสังเกตเองได้ง่าย ๆ ว่าฮาร์ดดิสก์ใกล้พังแล้วหรือยัง ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมถึงระบบปฏิบัติการเปิดเรียกใช้งานได้ช้าลง ทำให้ต้องเสียเวลารอนานขึ้นจนผิดสังเกต หรือโปรแกรมต่าง ๆ เริ่มมีอาการค้างและไม่ตอบสนองการสั่งการบ่อยขึ้น และโปรแกรมล่ม หรือ Error

ฮาร์ดดิสก์ใกล้พังคอมพิวเตอร์เกิดจอฟ้าบ่อย

มีอาการจอสีฟ้า หรือระบบปฏิบัติการล่มบ่อยขึ้น

อีกสัญญาณเตือนถึงอาการาฮาร์ดดิสก์ใกล้พัง คือ ระบบปฏิบัติการที่เราใช้งานคอมพิวเตอร์ (Operation System) เช่น วินโดว์ (Windows) เกิดอาการค้างและล่มลง โดยแสดงหน้าจอเป็นสีฟ้าพร้อมกับมีข้อความชี้แจงการทำงานที่ขัดข้อง ซึ่งหากคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานเกิดอาการนี้บ่อยขึ้น ก็เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าฮาร์ดดิสก์ของเราใกล้พัง และควรมองหาอะไหล่มาเปลี่ยนได้แล้ว

ไฟล์ข้อมูลเริ่มเสีย ไฟล์หาย หรือเปิดใช้งานไฟล์ไม่ได้

นับว่าเป็นสัญญาณเตือนอาการฮาร์ดดิสก์ใกล้พังที่อาจจะดูยากหน่อยสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป โดยไฟล์ต่าง ๆ ที่เราใช้ทำงานเริ่มทำงานผิดปกติ เกิดอาการที่ไฟล์ Corrupt ขัดข้อง ข้อมูลบางส่วนเสียหาย หรือสูญหาย ขนทำให้ไฟล์ชิ้นนั้นเปิดใช้งานไม่ได้ หรือไม่สามารถบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมได้ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับไฟล์หลาย ๆ ชิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็แปลว่าฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เก็บข้อมูลกำลังหมดอายุขัยของมันแล้ว

เริ่มมีอาการสั่นสะเทือนหรือเกิดเสียงขูดกระทบจากจุดที่ติดตั้งฮาร์ดดิสก์

ขณะที่เราใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วพบว่ามีแรงสั่นสะเทือนเบา ๆ และมีเสียงขูดครืดคราดจากตำแหน่งที่เป็นจุดติดตั้งอุปกรณ์รฮาร์ดดิสก์ นั่นแปลว่าตัวอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์เองเริ่มมีการทำงานไม่ปกติและเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายกับข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ภายในได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อฮาร์ดดิสก์พังเสียหายแล้ว

สิ่งที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ของเรานั้นได้พัยงเสียหายเป็นที่เรียบร้อย นอกจากอาการขัดข้อง และไฟล์ข้อมูลเสียหายต่าง ๆ ก็คือ การที่เราสั่งเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วตัวเครื่องตรวจไม่พบเจอฮาร์ดดิสก์ชิ้นนั้น และระบบปฏิบัติการไม่แสดงขึ้นมาให้ใช้งาน ราวกับว่าฮาร์ดดิสก์ได้หายสาปสูญไปทั้ง ๆ ที่ยังติดตั้งอยู่ในเครื่อง

ซึ่งแปลว่าฮาร์ดดิสก์ชิ้นนั้นพังเสียหายจนเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถเชื่อมต่อเพื่อเรียกใช้งานข้อมูลใด ๆ ได้อีกต่อไปนั่นเอง

วิธีง่าย ๆ ในการเช็คสภาพของฮาร์ดดิสก์ด้วยตัวเอง

จริง ๆ แล้วเราสามารถตรวจสอบความพร้อมของฮาร์ดดิสก์ได้เองอย่างง่าย ๆ ผ่านระบบสแกนฮาร์ดแวร์ของตัวเครื่องหรือ System Diagnostics โดยขั้นตอนคำสั่งอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อผู้ผลิต

ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เราทราบถึงอาการเบื้องต้นของชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ รวมถึงฮาร์ดดิสก์ที่อยู่ภายในคอมพิวเตอร์ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน และอยู่ในระยะที่ควรเปลี่ยนอะไหล่หรือไม่ โดยหากฮาร์แวร์ชิ้นใดเกิดปัญหา ระบบ System Diagnostics ก็จะแจ้งให้เจ้าของเครื่องทราบทันทีหลังจากที่สแกนแล้วเสร็จนั่นเอง

เราจะรับมือกับปัญหาฮาร์ดดิสก์ใกล้พังได้อย่างไงบ้าง

เมื่อปัญหาฮาร์ดดิสก์พังเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ของเราอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว ซึ่ง Clickzy ก็รวบรวมวิธีรับมือกับความเสี่ยงของฮาร์ดดิสก์ใกล้พังเอาไว้ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะสูญเสียข้อมูลไฟล์งานอันมีค่าไปอย่างไม่มีวันได้คืน

เลี่ยงฮาร์ดดิสก์ใกล้พังควรสำรองข้อมูลเป็นประจำ

หมั่นสำรองข้อมูลแยกไว้เป็นประจำ

เพื่อที่เราจะยังมีไฟล์ข้อมูลไว้ใช้งานต่อได้ ในวันที่ฮาร์ดดิสก์พังเสียหาย เราควรมีการสำรองข้อมูลแยกไว้นอกฮาร์ดดิสก์ชิ้นนั้นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการสำรองไว้กับอุปกรณ์ Flash Drive หรืออัปโหลดข้อมูลไว้ในระบบคลาวด์ ก็จะช่วยให้เราสามารถทำงานกับไฟล์ชุดเดิมได้อย่างต่อเนื่องกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ แม้ฮาร์ดดิสก์ชิ้นเดิมจะพังไปแล้วก็ตาม

ลบไฟล์ข้อมูลที่ไม่ใช้แล้วออกไปบ้าง

การที่ฮาร์ดดิสก์มีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้มากจนเกินไป ก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ฮาร์ดดิสก์ทำงานหนักจนเสื่อมสภาพเร็ว ดังนั้นข้อมูลใด ๆ ที่เรามองว่าไม่จำเป็นแล้วก็ควรสำรองออกไปไว้ที่อื่น หรือลบทิ้งไปบ้างก็ดี

เปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ชิ้นนั้นใหม่

หากระบบสแกน System Diagnostics แจ้งว่าฮาร์ดดิสก์กำลังเสื่อมสภาพ หรือคอมพิวเตอร์เริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็นับเป็นอีกสัญญาณว่าเราควรจะเปลี่ยนชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์เป็นอันใหม่ได้แล้ว และโอนถ่ายข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์เดิมเพื่อให้เราสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ต่อไป

เลี่ยงฮาร์ดดิสก์ใกล้พังไปใช้ SSD แทน

One More Tip:

รู้หรือไม่ว่า คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน เริ่มมีการเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์เป็นชิปหน่วยความจำเก็บข้อมูล หรือ Solid State Drive (SSD) ซึ่งจะมีการทำงานคล้ายกับ Flash Drive โดยไม่จำเป็นต้องมีการหมุนจานแม่เหล็ก ที่เสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพและเกิดการขีดข่วนให้เสียหายได้ ทำให้ SSD อ่านและเขียนข้อมูลได้รวดเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์หลายเท่า

แต่อาการเสื่อมสภาพของ SSD เราก็สามารถสังเกตได้ตามอาการขั้นต้นเช่นกัน เพียงแต่อาจจะไม่มีอาการสั่นหรือมีเสียงขูดครืดคราดคล้ายกับกรณีของฮาร์ดดิสก์ใกล้พังให้พบเห็นแล้วเท่านั่นเอง

อ้างอิง: 

7 วิธีจัดโต๊ะเขียน ...

6 แอปท่องเที่ยวแนะ ...